ประวัติหน่วยงาน

Release Date : 02-03-2018 13:29:30
ประวัติหน่วยงาน

จากอดีตถึงปัจจุบัน 

    อู่เรือหลวงใต้วัดระฆังตรงข้ามท่าราชวรดิฐ ได้เริ่มสร้างตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ และใช้ซ่อมเรือหลวง ตลอดมาจนถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อครั้ง พลเรือโทพระองค์เจ้า สายสนิทวงศ์ มีหน้าที่บังคับบัญชากรมทหารเรือ ได้จัดที่ว่าการกรมทหารเรืออยู่ใกล้กับโรงหล่อ หรืออู่เรือใต้วัดระฆัง ครั้นต่อมามี เรือหลวงเป็นจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจึงโปรดเกล้าให้จัดการสร้างอู่หลวงขนาดใหญ่ ข้างโรงหล่อเป็นอย่าง แบบอู่ไม้  ซึ่งได้จัดการสร้างจนแล้วเสร็จ  และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ  ได้เสด็จไปประกอบพิธีเปิดอู่หลวงนี้  เมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ.๒๔๓๓ โดยมีนายพันตรี นายสมบูรณ์ บุณยกะลิน มหาดเล็ก  (ภายหลังเป็น นาวาเอก พระชำนิกลการ) เป็นเจ้ากรมช่างกลใหญ่ กรมอู่หลวงคนแรกและเจ้ากรมอู่ทหารเรือได้ยึดถือเอา วันที่ ๙ มกราคม ของทุกปี เป็นวัน "วันกรมอู่ทหารเรือ" นับว่ากิจการของกรมอู่ทหารเรือ ดำเนินการมาจนถึงปัจจุบันนี้

    ก่อนเปิดอู่หลวงในปี พ.ศ.๒๔๓๓ กิจการฝ่ายอู่เรือเรียกว่า "กรมอู่เรือ" ได้มีกิจการซ่อมเรือหลวง ในระยะนี้ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนใหญ่ คือ ฝ่ายการอู่ และ ฝ่ายการกลจักรหรือฝ่ายโรงงาน ดังปรากฏ การแบ่งส่วนราชการทหารเรือ ในปี พ.ศ.๒๔๓ ๕ ปี พ.ศ.๒๔๔๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จอมพลเรือเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตเสด็จมาทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ โดยโปรดปฏิรูป กิจการเสียใหม่ยุบเลิกกองทั้ง๒กองแล้วแบ่งแยก แผนกการปกครองการบังคับบัญชาออกเป็นสัดส่วน โดยโอนกิจการอู่เรือ และฝ่ายการกลจักรชั้นใน สังกัดกรมช่างต่าง ๆ ขึ้นในสังกัดกรมทหารเรือฝ่ายบก รวม ๓ กองคือ
๑.กองช่างเหล็ก
๒.กองช่างไม้
๓.กองอู่และช่างเย็บ

    ต่อมามีจำนวนเรือหลวงมากขึ้นจำเป็นต้องปรับปรุงและ ซ่อมเรือหลวงนี้ จึงได้เริ่มลงมือขยายอู่เมือ พ.ศ.๒๔๔๗ เป็นอู่คอนกรีต โดยบริษัทบางกอกด๊อกเป็นผู้รับเหมาคิดค่าก่อสร้างเป็นเงินประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ บาท(ห้าแสนบาท) สร้างแล้วเสร็จใน เดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๔๙ อู่หลวงที่ขยายออกในปีนี้ ปัจจุบันเรียกว่า"อู่หมายเลข ๑" (อู่ชั้นนอก)มีขนาดยาว ๙๐ เมตร กว้าง ๑๑.๒๐ เมตรลึก ๔ เมตร พร้อมกับได้มีการ ขยายโรงงานคือ โรงงานเหล็ก โรงต่อเรือ โรงช่างไม้คลังเก็บของ และสร้างปั้นจั่นเหล็กสามขา สำหรับยกของหนัก ๆ ขึ้นที่ปากอู่หลวง โดยบริษัท โฮวาธเออสกิน (Howarth Erskine) เป็นผู้รับเหมาได้สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๒

    ในปี พ.ศ.๒๔๕๘ ทางราชการทหารเรือได้ขยายอู่หลวง ให้มีความยาวออกไปอีกติดกับอู่นอก เรียกว่า "อู่หมายเลข ๑ "(อู่ใน)"มีบานพับสำหรับกั้นเขตอู่ทั้งสองนี้ มีขนาดยาว ๕๔ เมตร กว้าง ๑๑.๒๐ เมตร ลึก ๔ เมตร แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๔๕๙ และในปีนี้ก็ได้ตั้งกองไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก ๑ กอง พ.ศ.๒๔๗๔ ได้ชื่อ "กรมอู่หลวง" โดยมี นาวาเอก พระยาวิจารณ์จักรกิจ ( บุญชัย สวาทะสุุข) ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมอู่ทหารเรือ

    ภายหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพ.ศ.๒๔๗๕แล้วกองทัพเรือได้ขยายกำลังมีจำนวนเรือรบเพิ่มขึ้นอีกเป็นอันมาก ทั้งเรือที่สั่งต่อจากประเทศญี่ปุ่นและประเทศอิตาลีจึงจำเป็นต้องสร้างอู่ใหม่ขึ้นอีกอู่หนึ่ง นับเป็นอู่หมายเลข ๒ อยู่ถัดจากอู่หมายเลข ๑ ได้สร้างขึ้นเมือปี    พ.ศ.๒๔๗๙ โดยบริษัท Christiana and Niclsen มีขนาดยาว ๑๓๐ เมตร กว้าง ๙.๘๐ เมตร ลึก ๔ เมตร และได้จัดหาเครื่องจักรกล อื่นๆที่มีความจำเป็นต้องใช้เพิ่มอีกมาก ในปี พ.ศ.๒๔๗๘ ซึ่งเป็นระยะสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้มีการปรับปรุงกิจการกรมอู่ทหารเรือ โดยแบ่งออกเป็นหน่วยต่าง ๆ ดังนี้

๑. กองบังคับการ  ๒. กองเทคนิค  ๓.  กองโรงงานการจักร  ๔. กองช่างต่อเรือ  ๕. กองไฟฟ้า  ๖. กองช่างก่อสร้าง  ๗. กองการอู่   ๘. กองคลัง
ในปี พ.ศ.๒๔๙๐ ได้ตั้งกองแบตเตอรี่ และสีเพิ่มขึ้นอีก๑กองดังนั้นระหว่างพ.ศ.๒๔๙๘ ถึงพ.ศ.๒๕๐๐ อู่ทหารเรือ ได้ถูกยุบเลิกสลายตัวเป็นกรมย่อย ๔ กรม คือ
๑. กรมสารวัตรช่างทหารเรือ       ๒. กรมโรงงานทหารเรือ       ๓. กรมต่อเรือ      ๔. กรมไฟฟ้าทหารเรือ
สมัยนั้นไม่มีผู้ใดที่จะถือไ่ด้ว่าเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด ของกรมอู่ทหารเรือ พ.ศ.๒๕๐๑ ได้มีคำสั่งกองทัพเรือ (คำสั่งชี้แจง) ที่ ๓/๒๕๐๑ เรื่อง การจัดส่วนรา่ชการกองทัพเรือพ.ศ.๒๕๐๑ คือ ตั้งกรมอู่ทหารเรือขึ้นใหม่เป็นอันว่ากรมอู่ทหารเรือได้กำหนดขึ้นอีกครั้งโดยมี พลเรือตรี ศรี ดาวราย เป็นเจ้ากรมอู่ทหารเรือ ให้มีสายงานขึ้นตรงต่อกองทัพเรือ ซึ่งมีการแบ่งส่วนราชการเป็น กองบังคับการ, กรมโรงงาน, กรมต่อเรือ, กรมไฟฟ้า

    ต่อมา ในปี พ.ศ.๒๕๒๘ ได้มีการเปลี่ยนแปลงการจัดส่วนราชการกรมอู่ทหารเรือ ตามคำสั่งกองทัพเรือ(เฉพาะ) ที่ ๒๙๒/๒๕๒๘ เรื่อง แก้อัตรากองทัพเรือ พ.ศ.๒๕๐๑ ลง ๒๖ กันยายน ๒๕๒๘ คือ แบ่งส่วนราชการออกเป็น กองบังคับการ กรมแผนการช่าง กรมพัฒนาการช่าง อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า กรมช่างโยธา ศูนย์พัสดุช่าง ศูนย์ฝึกอบรมอิเล็กทรอนิกส์ ต่อมากรมช่างโยธาได้รับการจัดส่วนราชการใหม่เป็น กรมช่างโยธาทหารเรือ ขึ้นตรงต่อกองทัพเรือตามพระรา่ชกฤษฎีกาเมื่อ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๒ การเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างของกรมอู่ทหารเรือจนถึงปัจจุบัน ล้วนแต่เพื่อความก้าวหน้าและความพร้อมที่จะสนองภารกิจของกองทัพเรือและประเทศชาติ